ประวัติความเป็นมา

 

cropped-nakhonnayok.jpg

ประวัติ

จังหวัดนครนายก จะสร้างขึ้นในสมัยใดนั้นยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด แต่จากการที่กรมศิลปากรได้มาทำการขุดค้นตัวเมืองเก่าที่ตำบลดงละคร อำเภอเมืองนครนายก เมื่อปี พ.ศ. 2517 และจากการรื้อค้นหลักฐานที่มีพอจะสรุปประวัติความเป็นมาได้ว่า จังหวัดนครนายกเป็นเมืองเก่าแก่กว่า 900 ปีมาแล้ว มีปรากฏขึ้นในสมัยทวารวดี
แต่จะมีชื่อเมืองอย่างไรนั้นไม่ปรากฏ จากสภาพเมืองเก่าที่ตำบลดงละคร (เมืองลับแล) เป็นตัวเมืองที่ตั้งอยู่บนที่สูง
มีลักษณะเป็นเกาะกลางทุ่ง สภาพตัวเมืองเป็นรูปทรงกลม ซึ่งเป็นลักษณะตัวเมืองสมัยทวารวดี ต่อมาเมื่ออาณาจักรขอมมีอำนาจได้แผ่อาณาจักรออกไปตลอดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีนครธมเป็นราชธานีขอมได้ตั้งเมืองละโว้ (ลพบุรี) เป็นเมืองลูกหลวง มีหน้าที่ปกครองอาณาจักรขอมในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เมืองนครนายกจึงตกอยู่ใต้อิทธิพลของขอมชั่วระยะเวลาหนึ่ง ประมาณปี พ.ศ. 1600 อาณาจักรขอมเสื่อมอำนาจลงแต่นครนายกก็ยังคงรวมอยู่ในดินแดนของอาณาจักรขอมแถบชายแดน จนเมื่อไทยเริ่มมีอำนาจ และตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
มีหลักฐานว่า นครนายกเป็นเมืองหน้าด่าน หรือ เมืองปราการ ตั้งแต่ สมัยพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) เป็นต้นมา หน้าที่ของเมืองหน้าด่าน คือ เป็นเมืองที่รายล้อมราชธานี เป็นที่สะสมเสบียงอาหารและกำลังผู้คนไว้สำหรับป้องกันเมืองหลวง เมืองเหล่านี้อยู่ห่างจากเมืองหลวงโดยเฉลี่ยประมาณ 50 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางไปมาจากเมืองหน้าด่านถึงราชธานีประมาณ 2 วัน
ในสมัย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้ทำการปรับปรุงการปกครอง คือ ยกเลิกเมืองหน้าด่านขยายอำนาจราชธานีออกไปจัดตั้งหัวเมืองชั้นใน ได้แก่ ราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม สุพรรณบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี และนครนายก กำหนดให้หัวเมืองชั้นในเหล่านี้เป็นเมืองชั้นจัตวา ผู้ว่าราชการเมืองเรียกว่า “ผู้รั้ง” พระมหากษัตริย์ ทรงแต่งตั้งออกไปปกครอง เพราะฉะนั้นหัวเมืองชั้นในจึงอยู่ในการดูแลของราชธานีอย่างใกล้ชิด นครนายกจึงมีฐานะเป็นหัวเมืองจัตวา ตั้งแต่นั้นมาจนตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา
ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียให้แก่พม่า ในวันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน พ.ศ. 2310 เป็นครั้งที่ 2 นั้น ในขณะที่พม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ พระยาตาก ได้ช่วยทำการรบศึกอยู่ในเมือง ครั้งหนึ่งพระยาตากเห็นพม่ารุกหนักเข้ามา ก็สั่งให้ยิงปืนใหญ่สกัดกั้นไว้โดยที่ยังไม่ได้ขออนุญาตก่อนตามกฎที่วางไว้ จึงถูก พระเจ้าเอกทัศน์ สั่งภาคทัณฑ์คาดโทษ พระยาตากตัดสินใจนำทหารประมาณ 500 คน ตีฝ่าวงล้อมของพม่าออกไปเมื่อปี พ.ศ. 2309 และยกทัพออกมาทางตะวันออกมาทางด้านวัดพิชัย มีพลประมาณ 1,000 กว่าคน พร้อมทั้งข้าราชการกรุงเก่า บางพวกที่ร่วมหนีออกมาด้วยกับพระยาตาก จากพงศาวดารกรุงธนบุรีได้กล่าวว่า พระยาตากยกทัพมาทางสระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี กองทัพพระยาตากยกไปต้องปะทะกับพม่าที่มีกำลังเหนือกว่าหลายเท่า แต่ก็ได้ประสบชัยชนะตลอดมา ระหว่างทางได้ทำการเกลี้ยกล่อม คนไทยให้เข้าด้วยตลอดทางจนถึงชลบุรี พระยาตากใช้นโยบายเกลี้ยกล่อมให้ยอมอ่อนน้อมเสียก่อน ถ้าไม่ยอมถึง 3 ครั้ง จึงจะจัดการอย่างเด็ดขาด
พระยาตากมุ่งไปทางระยองและจันทบุรี พระยาจันทบุรี ได้รับปากว่าจะเข้าด้วย แต่ขอให้พระยาตากรอไปก่อน ผลสุดท้ายพระยาตากต้องตัดสินใจโจมตีเมืองจันทบุรี เพราะ เมืองจันทบุรีเป็นเมืองสำคัญทั้งในด้านทหารและด้านเศรษฐกิจ ในการที่จะสนับสนุนให้การขับไล่พม่าไปจากประเทศเป็นผลสำเร็จ
สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 นครนายกเป็นหัวเมือง ชั้นจัตวา โดยเป็นหน่วยปกครองที่อยู่ไม่ไกลเมืองหลวงนัก สมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการปฏิรูปการปกครองใหม่เรียกว่า การปกครองมณฑลเทศาภิบาลเมืองนครนายกจัดอยู่ในมณฑลปราจีนบุรี ซึ่งจัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2437 ประกอบด้วยเมืองต่าง ๆ คือ
1. ปราจีนบุรี
2. ฉะเชิงเทรา
3. นครนายก
4. พนมสารคาม
5. พนัสนิคม
6. ชลบุรี
7. บางละมุง
พ.ศ. 2445 รัชกาลที่ 5 ทรงยกเลิกธรรมเนียมการมีเจ้าเข้าครอง และให้มีตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองขึ้นแทน เมืองนครนายก จึงได้มีผู้ว่าราชการเมืองคนแรก คือ พระพิบูลย์สงคราม (จอน) ศาลากลางจังหวัดแห่งแรกตั้งขึ้น ณ บริเวณริมฝั่งขวา แม่น้ำนครนายก (บริเวณหลังธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารกรุงเทพในปัจจุบัน) จนถึง พ.ศ. 2486 ทางราชการได้ยุบจังหวัดนครนายกให้ไปรวมกับจังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดสระบุรี หลังจากนั้นประมาณ 4 ปี คือใน พ.ศ. 2489 จึงได้ตั้งจังหวัดนครนายกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ. 2519 มีปัญหาเกี่ยวกับสถานที่ตั้งศาลากลางจังหวัดหลังเก่า ซึ่งตั้งอยู่ในย่านชุมนุมชนคับแคบขยายออกไปอีกไม่ได้ จึงได้ย้ายไปสร้างศาลากลางจังหวัดแห่งใหม่ บริเวณริมถนนสุวรรณศรห่างจากเขตเทศบาลประมาณ 2 กิโลเมตร และได้เปิดทำการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2520 จนถึงปัจจุบัน
การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบบมณฑลเทศาภิบาล
หลังจากจัดหน่วยราชการบริหารส่วนกลาง โดยมีกระทรวงมหาดไทยในฐานะเป็นส่วนราชการที่เป็นศูนย์กลางอำนวยการปกครองประเทศและควบคุมหัวเมืองทั่วประเทศแล้ว การจัดระเบียบการปกครองต่อมาก็มีการจัดตั้งหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค ซึ่งมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทนหรือหน่วยงานประจำท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยขึ้น อันได้แก่ การจัดรูปการปกครองแบบเทศาภิบาล ซึ่งถือได้ว่าเป็นระบบการปกครองอันสำคัญยิ่งที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนำมาใช้ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคในสมัยนั้น การปกครองแบบเทศาภิบาล เป็นระบบการปกครองส่วนภูมิภาคชนิดหนึ่งที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการจากส่วนกลางออกไปบริหารราชการในท้องที่ต่าง ๆ การปกครองแบบเทศาภิบาล เป็นระบบการปกครองที่รวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลางอย่างมีระเบียบเรียบร้อย และเปลี่ยนระบบการปกครองจากประเพณีปกครองดั้งเดิมของไทย คือ ระบบกินเมือง ให้หมดไป
การปกครองหัวเมืองก่อนวันที่ 1 เมษายน 2435 นั้น อำนาจปกครองบังคับบัญชา มีความหมายแตกต่างกันออกไปตามความใกล้ไกลของท้องถิ่น หัวเมืองหรือประเทศราชยิ่งไกลไปจากกรุงเทพฯ เท่าใดก็ยิ่งอิสระในการปกครองตนเองมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากทางคมนาคมไปมาหาสู่ลำบาก หัวเมืองที่รัฐบาลปกครองบังคับบัญชาได้โดยตรงก็มีแต่หัวเมืองจัตวาใกล้ๆ ส่วนหัวเมืองอื่น ๆ ที่เจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองแบบกินเมืองและมีอำนาจอย่างกว้างขวางในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งเสนาบดี พระองค์ได้จัดให้อำนาจการปกครองเข้ามาร่วมอยู่ยังจุดเดียวกัน โดยการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นมีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชา หัวเมืองทั้งปวงซึ่งหมายความว่า รัฐบาลมิให้การบังคับบัญชาหัวเมืองไปอยู่ที่เจ้าเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลเริ่มจัดตั้งแต่ พ.ศ. 2437 จนถึง พ.ศ. 2458 จึงสำเร็จและเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องนี้เสียก่อนในเบื้องต้น จึงจะขอนำคำจำกัดความของ “การเทศาภิบาล” ซึ่งพระยาราชเสนา (สิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยตีพิมพ์ไว้ มีความว่า
“การเทศาภิบาล คือ การปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการอันประกอบด้วยตำแหน่งข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์ รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลาง ซึ่งประจำอยู่แต่เฉพาะในราชธานีนั้น ออกไปดำเนินงานในส่วนภูมิภาคเป็นสื่อกลางระหว่างรัฐบาล ซึ่งอยู่ในราชธานีให้ได้ใกล้ชิดกับอาณาประชากร เพื่อให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขและเกิดความเจริญทั่วถึงกัน โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย จึงแบ่งเขตการปกครองโดยขนาดลดหลั่นกันเป็นชั้นอันดับดังนี้ คือ ส่วนใหญ่เป็นมณฑล รองถัดลงไปเป็นเมือง คือ จังหวัด รองไปอีกเป็น อำเภอ และ หมู่บ้าน จัดแบ่งหน้าที่ราชการเป็นส่วนสัดแผนกงานให้สอดคล้องกับทำนองงานของกระทรวงทบวงกรมในราชธานี และจัดสรรข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถความประพฤติให้ไปประจำทำงานตามตำแหน่งหน้าที่มิให้มีการก้าวก่ายสับสนกันดังที่เป็นมาแต่ก่อน เพื่อนำมาซึ่งความเจริญเรียบร้อย และรวดเร็วแก่ราชการและกิจธุระของประชาชนซึ่งต้องอาศัยทางราชการเป็นที่พึ่งด้วย”
จากคำจำกัดความดังกล่าวข้างต้น ควรทำความเข้าใจบางประการเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาล ดังนี้

การเทศาภิบาล นั้น หมายความรวมว่า เป็น “ระบบ” การปกครองอาณาเขต ชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า “การปกครองส่วนภูมิภาค” ส่วน “มณฑลเทศาภิบาล” นั้น คือ ส่วนหนึ่งของการปกครองชนิดนี้ และยังหมายความอีกว่า ระบบเทศาภิบาลเป็นระบบที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการส่วนกลางไปบริหารราชการในท้องที่ต่าง ๆ แทนที่ส่วนภูมิภาคจะจัดปกครองกันเองเช่นที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิม อันเป็นระบบกินเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลจึงเป็นระบบการปกครองซึ่งรวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลาง และริดรอนอำนาจของเจ้าเมืองตามระบบกินเมืองลงอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้ มีข้อที่ควรทำความเข้าใจอีกประการหนึ่ง คือ ก่อนการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาลนั้น ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนปฏิรูปการปกครองก็มีการรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลเหมือนกัน แต่มณฑลสมัยนั้นหาใช่มณฑลเทศาภิบาลไม่ ดังจะอธิบายโดยย่อดังนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริจะจัดการปกครองพระราชอาณาเขต ให้มั่นคงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทรงเห็นว่าหัวเมืองอันมีมาแต่เดิมแยกกันขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยบ้างกระทรวงกลาโหมบ้างและกรมท่าบ้าง การบังคับบัญชาหัวเมืองในสมัยนั้นแยกกันอยู่ถึง 3 แห่ง ยากที่จะจัดระเบียบเรียบร้อยเหมือนกันได้ทั่วราชอาณาจักรทรงพระราชดำริว่า ควรจะรวมการบังคับบัญชา หัวเมืองทั้งปวงให้ขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเดียวกัน จึงได้มีพระบรมราชโองการแบ่งหน้าที่ระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมเสียใหม่ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2435 เมื่อได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยปกครองหัวเมืองทั้งปวงแล้ว จึงได้รวบรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลมีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้ปกครอง การจัดตั้งมณฑลในครั้งนั้นมีอยู่ทั้งสิ้น 6 มณฑล คือ มณฑลลาวเฉียงหรือมณฑลพายัพ มณฑลลาวพวน หรือมณฑลอุดร มณฑลลาวกาว หรือมณฑลอีสาน มณฑลเขมร หรือมณฑลบูรพา และมณฑลนครราชสีมา ส่วนหัวเมืองทางฝั่งทะเลตะวันตก บัญชาการอยู่ที่เมืองภูเก็ต
การจัดรวบรวมหัวเมืองเข้าเป็น มณฑลดังกล่าวนี้ ยังมิได้มีฐานะเหมือนมณฑลเทศาภิบาลการจัดระบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาลได้เริ่มอย่างแท้จริงเมื่อ พ.ศ. 2437 เป็นต้นมา และก็มิได้ดำเนินการจัดตั้งพร้อมกันทีเดียวทั่วราชอาณาจักร แต่ได้จัดตั้งเป็นลำดับ ดังนี้
พ.ศ. 2437 เป็นปีแรกที่ได้วางแผนงานจัดระเบียบการบริหารมณฑลแบบใหม่เสร็จ กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น 3 มณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีนบุรี มณฑลนครราชสีมา ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากสภาพมณฑลแบบเก่ามาเป็นแบบใหม่ และในตอนปลายนี้เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้โอนหัวเมืองทั้งปวงซึ่งเคยขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศมาขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียวแล้วจึงได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลราชบุรีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. 2438 ได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก 3 มณฑล คือ มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลกรุงเก่า และได้แก้ไขระเบียบการจัดมณฑลฝ่ายทะเลตะวันตก คือ ตั้งเป็นมณฑลภูเก็ต ให้เข้ารูปลักษณะของมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. 2439 ได้รวมหัวเมืองมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก 2 มณฑล คือ มณฑลนครศรีธรรมราชและมณฑลชุมพร
พ.ศ. 2440 ได้รวมหัวเมืองมลายูตะวันออกเป็นมณฑลไทรบุรี
พ.ศ. 2442 ได้ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. 2443 ได้เปลี่ยนแปลงสภาพของมณฑลเก่า ๆ ที่เหลืออยู่อีก 3 มณฑล คือ มณฑลพายัพ มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล
พ.ศ. 2447 ยุบมณฑลเพชรบูรณ์ เพราะเห็นว่ามีแต่จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
พ.ศ. 2449 จัดตั้งมณฑลปัตตานี และมณฑลจันทบุรี มีเมืองจันทบุรี ระยอง และตราด
พ.ศ. 2450 ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
พ.ศ. 2451 จำนวนมณฑลลดลง เพราะไทยต้องยอมยกมณฑลไทรบุรีให้แก่อังกฤษ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการแก้ไขสัญญาค้าขาย และเพื่อจะกู้ยืมเงินอังกฤษมาสร้างทางรถไฟสายใต้
พ.ศ. 2455 ได้แยกมณฑลอีสานออกเป็น 2 มณฑล มีชื่อใหม่ว่า มณฑลอุบลและมณฑลร้อยเอ็ด
พ.ศ. 2458 จัดตั้งมณฑลมหาราษฎร์ขึ้น โดยแยกออกจากมณฑลพายัพ
การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมืองเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น ปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดินมีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองนอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 จึงได้ยกเลิกมณฑลเสียเหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องจาก
1) การคมนาคมสื่อสารสะดวกและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน สามารถที่จะสั่งการและตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง
2) เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง
3) เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล มณฑลรายงานต่อกระทรวง เป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น
4) รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วนภูมิภาคยิ่งขึ้น และการที่ยุบมณฑลก็เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดมีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนี้
จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่ในคณะบุคคล ได้แก่ คณะกรมการจังหวัดนั้นได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับบุคคลคนเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
ในฐานะของคณะกรมการจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัด ได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
ต่อมา ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น จังหวัด อำเภอ
จังหวัดนั้นได้รวมท้องที่หลาย ๆอำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบและเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดให้ตราเป็นพระราชบัญญัติและให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น

2

อ้างอิง http://www.baanjomyut.com/76province/center/nakhonnayok/history.html

 

ใส่ความเห็น